20.การฝึกและปฏิบัติ


การสอนโดยใช้การฝึกและปฏิบัติ
ความหมาย
คำว่า “ฝึก” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2542 หมายถึง ทำ (เช่น บอก แสดง หรือปฏิบัติ เป็นต้น) เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจจนเป็นหรือมีความชำนาญ ส่วนคำว่า “ปฏิบัติ” หมายถึง ดำเนินการตามระเบียบแบบแผน และคำว่า “ปฏิบัติการ” หมายถึง ฝึกงานเพื่อให้เกิดความชำนาญ (ราชบัณฑิตยสถาน, 2546: 751,647)

วีระ ไทยพานิช (2551: 15) กล่าวว่า การฝึก (Drill) หมายถึง การกระทำซ้ำหรือการทำแบบฝึกหัดเพื่อพัฒนาทักษะ (Skill) และการปฏิบัติ (Practice) คือการปฏิบัติจริงในสิ่งที่เรียนมาซึ่งการปฏิบัติย่อยๆ ก็จะเป็นการกระทำซ้ำๆ จุดมุ่งหมายสำคัญของการฝึกปฏิบัติซ้ำ ๆ เพื่อลงมือกระทำจริงและเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง
สรุปได้ว่า เทคนิคการสอนโดยใช้การฝึกและปฏิบัติ หมายถึง กลวิธีที่ครูใช้ในการดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนโดยให้นักเรียนได้ทำ แสดงหรือปฏิบัติเพื่อให้เกิดความชำนาญในสิ่งที่ได้ฝึกนั้น

วัตถุประสงค์
วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติมีหลายประการ ที่สำคัญ ได้แก่
1. เพื่อให้นักเรียนได้มีประสบการณ์ตรง ทำให้เข้าใจในสิ่งที่เรียนได้ดีขึ้น
2. เพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะและเกิดการเรียนรู้ที่คงทนมากยิ่งขึ้น
3. เพื่อลดความเบื่อหน่ายและสร้างความตื่นตัวให้กับนักเรียน
4. เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสได้ประเมินตนเองว่าทำสิ่งที่ได้รับมอบหมายได้หรือไม่
5. เพื่อให้ครูสามารถประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนจากการสังเกตผลงานของนักเรียนที่ได้จากการฝึกปฏิบัติ
6. เพื่อให้นักเรียนมีทักษะและเกิดความชำนาญในสิ่งที่ได้ฝึกปฏิบัติซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ในสิ่งที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
7. เพื่อเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนและระหว่างนักเรียนด้วยกันเอง เช่น ในกรณี “เพื่อนสอนเพื่อน” เป็นต้น และก่อให้เกิดความสามัคคีมากยิ่งขึ้น

ประโยชน์ของเทคนิคการสอนโดยใช้การฝึกและปฏิบัติ
เมื่อครูให้นักเรียนได้ฝึกและปฏิบัติกิจกรรมในชั้นเรียนจะก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการดังนี้
1. นักเรียนได้มีประสบการณ์ตรง ทำให้เข้าใจในสิ่งที่เรียนได้ดีขึ้น
2. นักเรียนเกิดทักษะและเกิดการเรียนรู้ที่คงทนมากยิ่งขึ้น
3. เนื่องจากนักเรียนได้ฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง ซึ่งอาจทำให้นักเรียนมีความกระตือรือร้น
4. เมื่อได้ปฏิบัตินักเรียนจะทราบว่าตัวเองมีความเข้าใจในบทเรียนมากน้อยเพียงใดและทราบว่าจะพัฒนาตนเองอย่างไร
5. ครูสามารถประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนจากการสังเกตผลงานของนักเรียนที่ได้จากการฝึกปฏิบัติ
6. นักเรียนมีทักษะและเกิดความชำนาญในสิ่งที่ได้ฝึกปฏิบัติซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ในสิ่งที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
7. ทำให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างภายในชั้นเรียนมากยิ่งขึ้น เช่น ในกรณี “เพื่อนสอนเพื่อน” เป็นต้น และก่อให้เกิดความสามัคคีมากยิ่งขึ้น
เทคนิคการสอนโดยใช้การฝึกและปฏิบัติ
ออร์สทีนและลาสเลย์ (Ornstein & Lasley II, 2000: 190) ศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับกาฝึกและปฏิบัติ ได้ข้อสรุปเป็นคำแนะนำในการปรับปรุงการใช้การฝึกและปฏิบัติให้ดียิ่งขึ้น ดังนี้
1. ต้องมีกฎระเบียบที่ชัดเจนสำหรับพฤติกรรมทั่วๆ ไปของนักเรียน กฎระเบียบเหล่านี้ ช่วยให้นักเรียนจัดการกับความต้องการของตนเองได้ เช่น การขออนุญาตไปห้องน้ำ หรือแนวทางการปฏิบัติงานที่ต้องทำเป็นประจำโดยที่ไม่รบกวนเพื่อนร่วมชั้น เช่น การเหลาดินสอ เป็นต้น
2. ครูควรเดินไปรอบๆ ห้องเพื่อดูแลและให้คำปรึกษานักเรียนขณะที่นักเรียนกำลังทำงานที่ได้รับมอบหมาย ให้นักเรียนรู้สึกว่าครูกำลังสังเกตพฤติกรรมของตนอยู่และในขณะเดียวกันครูก็พร้อมที่ช่วยเหลือนักเรียนหากมีปัญหาเกิดขึ้น
3. ให้คำแนะนำ คำอธิบายและผลป้อนกลับแก่นักเรียน ยิ่งครูให้ความสนใจนักเรียนมากเท่าไร นักเรียนก็ยิ่งสนใจในการทำงานที่ครูมอบหมาย และครูต้องคอยสังเกตนักเรียน หากนักเรียนเกิดความไม่เข้าใจหรือสับสนเกี่ยวกับงานที่ทำให้ครูดำเนินการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว
4. ใช้เวลาสำหรับการสอนและการสอนซ้ำเกี่ยวกับทักษะพื้นฐานเพิ่มมากขึ้น นักเรียนในระดับประถมศึกษาและนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำควรได้รับการฝึกฝนเกี่ยวกับทักษะการเรียนอย่างเต็มที่
5. ให้นักเรียนได้ฝึกและปฏิบัติทั้งในช่วงระหว่างและหลังจากเกิดการเรียนรู้แล้ว
6. จัดให้มีการฝึกและการปฏิบัติที่มีความท้าทายและหลากหลาย การฝึก ปฏิบัติอาจเป็นเรื่องที่ทำให้นักเรียนเป็นทุกข์หรือเกิดการเบื่อหน่ายได้ ถ้าการฝึกปฏิบัตินั้นง่ายหรือยากเกินไปหรือให้ทำสิ่งเดียวตลอด
7. ให้นักเรียนตื่นตัวตลอดเวลาและมีใจจดจ่ออยู่กับงาน ครูต้องถามคำถามนักเรียนเป็นครั้งคราวโดยเรียกทั้งนักเรียนที่อาสาและไม่อาสาที่จะตอบ และครูต้องอธิบายเพิ่มให้แก่นักเรียนในข้อที่นักเรียนตอบผิด
8. ครูต้องใช้กิริยาท่าทางที่มีความตื่นตัวตลอดเวลา เพื่อการจัดการชั้นที่ดีขณะที่นักเรียนฝึกและปฏิบัติ

วีระ ไทยพานิช (2551: 15-16) แนะนำเกี่ยวกับการฝึกและปฏิบัติ ดังนี้
1. ครูต้องให้คำแนะนำ นำเสนอข้อมูลและวัสดุเท่าที่นักเรียนต้องการอย่างชัดเจน
2. การฝึกควรเว้นระยะเวลา ไม่ทำซ้ำๆ มากจนนักเรียนเกิดการเบื่อ
3. การนำเกมหรือสถานการณ์จำลองมาใช้เป็นเครื่องช่วยสร้างแรงจูงใจอย่างดีในการฝึก
4. บอกให้นักเรียนรู้ถึงความก้าวหน้าของเขา
สุปราณี จิราณรงค์ (2551: 103-104) กล่าว่า หลังจากสอนจบนักเรียนจะต้องมีงานทำ เช่น แบบฝึกหัด ใบงาน การบ้าน รายงานเดี่ยว กลุ่ม โครงงาน เป็นต้น ซึ่งครูจะต้องอธิบายให้นักเรียนเข้าใจตรงกันทั้งห้องในสิ่งที่ครูมอบหมายให้ทำ
1. แบบฝึกหัด เป็นงานที่นักเรียนต้องรับผิดชอบทำหลังจากจบบทเรียนที่ ในระดับชั้นเล็กๆ เช่น ระดับอนุบาลถึงระดับชั้นประถมศึกษา ช่วงชั้นที่ 1 นักเรียนยังเล็กบางคนไม่สามารถทำงานด้วยตนเองจนสำเร็จได้ ครูควรให้ความช่วยเหลือโดยการทำแบบฝึกหัดไปพร้อมๆ กันทั้งห้อง โดยครูให้นักเรียนทั้งห้องช่วยกันคิด ช่วยกันตอบ ทำไปพร้อมๆ กัน แล้วครูเขียนสรุปเป็นคำตอบบนกระดานซึ่งจะเป็นผลดีที่ช่วยให้นักเรียนเข้าใจเพิ่มขึ้นหลังสรุปบทเรียนแล้ว
2. การให้ทำงานกลุ่ม และโครงงานต่างๆ ครูควรให้เวลาที่พอเหมาะและมีการติดตาม การทำงานของนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ พร้อมให้ความช่วยเหลือในเรื่องคำแนะนำ การแก้ปัญหาต่างๆ เป็นต้น ปัญหานั้นๆ อาจเกิดจากการหาแหล่งข้อมูลไม่ได้ ไม่รู้วิธีการทำ ซึ่งครูจะต้องเป็นผู้แนะนำชี้ทางให้นักเรียนสามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง

สรุปได้ว่า ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้นักเรียนได้ฝึกและปฏิบัตินั้น ครูต้องใช้กลวิธีต่างๆ เพื่อให้การฝึกและปฏิบัติเกิดผลมากที่สุด เทคนิคที่สำคัญ ได้แก่ ครูต้องคอยให้สังเกตการฝึกและปฏิบัติของนักเรียนและพร้อมที่จะช่วยเหลือทันทีที่นักเรียนมีปัญหาหรือเกิดข้อสงสัย รวมทั้งให้คำแนะนำ คำอธิบายหรือผลป้อนกลับเกี่ยวกับผลการฝึกและปฏิบัติของนักเรียน นอกจากนี้ กิจกรรมที่ครูฝึกต้องเป็นกิจกรรมที่ท้าทายและหลากหลายและครูต้องใช้คำถามกระตุ้นอย่างสม่ำเสมอ
ที่มา